การไถระเบิดดินดานในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง

07 เม.ย. 2559

คำนำ  

ราคามันสำปะหลังที่ผ่านมามีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา จนทำให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชนี้เริ่มวิตกกังวลในสถานการณ์แบบนี้เหมือนกับที่ผ่านมาในอดีตหลายสิบปีมาแล้ว  นอกจากปัญหาในเรื่องของราคามันสำปะหลังแล้ว ผู้เขียนได้ทราบข่าวในวงการการค้ามันเส้นจากศาสตราจารย์ ดร.เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ กรรมการมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทยว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนจะไม่ยอมรับซื้อมันเส้นจากราชอาณาจักรไทย ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่นละอองแป้งที่เกิดจากชิ้นส่วนแตกหักของมันเส้นเอง เกิดการฟุ้งกระจายในบรรยากาศขณะขนส่งออกจากท่าเรือ จนสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมข้างเคียงอย่างนัก สิ่งที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนในตอนนี้ก็คือการวิจัยเพื่อลดการแตกหักของมันเส้นพร้อมการบรรจุหีบห่อมันเส้นเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย ถ้าปัญหาดังกล่าวนี้ไม่ได้รับการแก้ไขทันต่อสถานการณ์อาจสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อวงการมันสำปะหลังได้

ปัจจุบันนี้ ผู้เขียนได้เห็นกลุ่มคนหลายกลุ่มมักจะนำอวิชชามาใช้กับมันสำปะหลังกันมากขึ้น ใช้วิธีการโฆษณาและสร้างจุดขายหลอกลวงเกษตรกร ให้เห็นดีเห็นชอบกับสิ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้คิดขึ้นมาเอง จนสร้างความเสียหายต่อผู้ปลูกมันสำปะหลังที่เป็นเยื่ออย่างมากมาย เป็นต้นว่าการขายพันธุ์มันสำปะหลังที่ไม่ได้รับรองจากภาคราชการ การใช้สารเร่งการเจริญเติบโต การใช้เทคนิคการปลูกที่พิสดารนอกเหนือจากคำแนะนำที่ถูกต้อง และใช้การตลาดแบบแชร์ลูกโซ่รับประกันซื้อท่อนพันธุ์คืนในราคาที่สูง อวิชชาดังกล่าวมักเกิดขึ้นในยามที่เกิดช่องว่างระหว่างเกษตรกร กับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยและพัฒนามันสำปะหลัง ผู้เขียนทำงานวิจัยมันสำปะหลังมากกว่า 30 ปี กล้าพูดได้ว่าแหล่งผลิตมันสำปะหลังที่ดีที่สุดในประเทศไทยอยู่ที่หมู่บ้านสมบัติเจริญ ตำบลกุดโบสถ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ด้วยเหตุผลที่ว่าสามารถผลิตมันสำปะหลังได้สูงถึง 8-10 ตันต่อไร่ โดย เกษตรกรสามารถนำน้ำใต้ดินมาใช้ปลูกเกือบทั้งหมู่บ้าน นอกจากนี้ เกษตรกรสามารถตามทันเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังที่ถูกต้องอยู่ตลอดเวลา โดย ไม่ยอมเป็นเยื่อพวกอวิชชาทางด้านมันสำปะหลังทั้งหลาย ลองหาโอกาสไปเยี่ยมหมู่บ้านนี้สักครั้ง เห็นความตั้งใจของเกษตรกรแล้ว ชื่นใจจริงๆครับ         

กลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง
กลยุทธ์ในการเผยแพร่เทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง สู่เกษตรกรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของนักส่งเสริมการเกษตรมาโดยตลอด ในอดีตที่ผ่านมา ดร. ไรนาร์ท เฮาร์เล่อร์ ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยเกษตรเขตร้อนนานาชาติ (CIAT) ประจำภูมิภาคเอเชีย ได้เริ่มสร้างต้นแบบการผลิตมันสำปะหลังแบบเกษตรกรมีส่วนร่วม ผู้เขียนจำได้ว่าเคยเข้ารับการอบรมต้นแบบฯนี้ที่โรงแรมแถวเขาใหญ่เมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว  ต่อมาในช่วงระยะหลัง กรมส่งเสริมการเกษตรได้แนะนำวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง โดย ผ่านทางสโลแกนที่ว่า “5 ต 5 ตันต่อไร่” และกรมวิชาการเกษตรได้แนะนำการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังในทุกแหล่งปลูกมันสำปะหลัง โดย ผ่านทางแปลงสาธิต “การสร้างแปลงต้นแบบการผลิตมันสำปะหลัง” จนกระทั่งมีสีคิ้วโมเดลของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมาเปิดตัวขึ้นมา ซึ่งมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโมเดลนี้ก็สุดแล้วแต่มุมมองของแต่ละท่านซึ่งมิอาจห้ามได้ ผู้เขียนมีความเชื่อว่าการให้องค์ความรู้ที่แท้จริง น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังให้กับเกษตรกรไทย

ปัจจัยหลักในการเพิ่มประสิทธิการผลิตมันสำปะหลัง   
เมื่อศึกษาถึงกลยุทธ์ในการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังที่กล่าวข้างต้น มักจะพูดถึงในเรื่องของการไถระเบิดชั้นดินดาน การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินหรือพูดให้เท่ทันยุคก็คือปุ๋ยสั่งตัด และการให้น้ำกับมันสำปะหลัง สิ่งเหล่านี้ถูกบรรจุใช้เป็นคำแนะนำหลักว่าเป็นปัจจัยหลักในการเพิ่มผลผลิตให้กับมันสำปะหลัง ซึ่งองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยหลักที่กล่าวข้างต้นอย่างเช่น การไถระเบิดดินดาน และการให้น้ำกับมันสำปะหลัง ยังไม่เคยมีคำแนะนำรองรับที่ชัดเจนจากผลงานวิจัย แต่มักมีความเชื่อมาจากปราชญ์ชาวบ้านที่แอบทดลองก่อนนักวิชาการมันสำปะหลังว่า การให้น้ำเพิ่มผลผลิตได้สูง 20-30 ตันต่อไร่ ส่วนการไถระเบิดชั้นดินดานก่อนปลูกสามารถเพิ่มผลผลิตได้ถึง 3 เท่า ซึ่งมีผู้บริหารทั้งภาครัฐบาลและเอกชนหลายท่านหลงเชื่อในคำโฆษณาดังกล่าว นำไปแนะนำขยายผลให้กับเกษตรกร เกิดความเสียหายดังปรากฏในข่าวสารที่ผ่านมา ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้เขียนได้ทำการศึกษาและทดลองในเรื่องดังกล่าว อยากใช้เวทีนี้ให้องค์ความรู้และข้อมูลผลการศึกษาในเรื่องการไถระเบิดชั้นดินดานและการให้น้ำกับมันสำปะหลังกับผู้ที่สนใจ             

ความหมายของชั้นดินดาน 
            ชั้นดินดาน หมายถึง ชั้นดินที่อัดตัวแน่นทึบหรือชั้นที่มีสารเชื่อมอนุภาคดินมาจับตัวกันแน่นทึบและแข็ง จนเป็นอุปสรรคต่อการชอนไชของรากพืช การไหลซึมของน้ำและอากาศ กระบวนการเกิดชั้นดินดานมี 3 ประเภท มีรายละเอียดดังนี้

  1. ชั้นดินดานแข็ง (duripan) เป็นชั้นดินแข็งเชื่อมกันแน่นโดยสารเชื่อม สารเชื่อมมีหลายชนิดและมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปขึ้นอยู่ชนิดของสารเชื่อม ได้แก่ เหล็ก คาร์บอเนต ซิลิก้า มีเนื้อที่ประมาณ 21.5 ล้านไร่หรือ 6.7 เปอร์เซ็นต์  
  2. ชั้นดินดานเปราะ (fragipan) เป็นชั้นดินดานที่มีความหนาแน่นสูงกว่าชั้นดินบนและล่าง ชั้นดินดานนี้เกิดจากการอัดตัวของดินเหนียว ทรายแป้ง และทราย มีการเชื่อมตัวกันแน่น เมื่อแห้งจะเปราะ เมื่อชื้นน้ำซึมผ่านได้ยาก มีเนื้อที่ประมาณ 10.2 ล้านไร่หรือ 3.2 เปอร์เซ็นต์
  3. ชั้นดินดานไถพรวน (plowpan) เป็นชนิดเดียวกันกับชั้นดินดานเปราะ แต่ใช้เรียกว่าเฉพาะชั้นดินดานที่เกิดจากการไถพรวนในระดับความลึกเดียวกันเป็นเวลานาน ซึ่งพบมากในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน

                 เราสามารถแยกชั้นดินดานแข็งออกจากชั้นดินดานเปราะ โดย พิจารณาจากการละลายน้ำ ถ้าหากละลายน้ำได้จะเป็นชั้นดินดานเปราะ โดย ชั้นดินดานเปราะมีข้อจำกัดในการปลูกพืชน้อยกว่าชั้นดินดานแข็ง เนื่องจากชั้นดินดานเปราะละลายน้ำได้

กระบวนการเกิดชั้นดินดานไถพรวน 
            เกิดจากการไถพรวนในระดับความลึกเดียวกันเป็นเวลานาน โครงสร้างของดินแตกละเอียด เมื่อฝนตกทำให้อนุภาคของดินเหนียว ทรายแป้ง รวมทั้งอินทรียวัตถุถูกชะล้างลงมาสะสมกันใต้ชั้นไถพรวน นอกจากนี้  ยังมีแรงกดทับจากรถแทรคเตอร์ในการเตรียมดินจนถึงการเก็บเกี่ยว และรถบรรทุกขนส่งหัวไปยังโรงงาน สิ่งดังกล่าวเหล่านี้ก่อให้เกิดชั้นดินดานไถพรวนขึ้นในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน

ระดับความรุนแรงของโอกาสเกิดชั้นดินดาน
มีการจำแนกระดับความรุนแรงของโอกาสในการเกิดชั้นดินดานในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้ 
ระดับที่ 1 มีโอกาสเกิดชั้นดินดานได้น้อย เนื่องจากพื้นที่เป็นดินเนื้อละเอียด  มีปริมาณทรายแป้ง (silt) น้อย อนุภาคของดินเป็นแบบก้อนเหลี่ยมและก้อนกลม ซึ่งทนทานต่อแรงไถพรวนและแรงกดทับจากเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ มีค่าความหนาแน่นรวมน้อยกว่า 1.31 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร 
ระดับที่ 2 มีโอกาสเกิดชั้นดินดานในระดับปานกลาง เนื่องจากพื้นที่เป็นเนื้อค่อนข้างละเอียด มีปริมาณทรายแป้งปานกลาง อนุภาคของดินเป็นแบบก้อนเหลี่ยม ซึ่งทนทานต่อแรงไถพรวนและแรงกดทับจากเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ปานกลาง มีค่าความหนาแน่นรวม 1.31-1.65 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร          
ระดับที่ 3 มีโอกาสเกิดชั้นดินดานในระดับปานกลาง เนื่องจากพื้นที่เป็นเนื้อค่อนข้างหยาบ มีปริมาณทรายแป้งสูง โครงสร้างของดินแน่นทึบ ซึ่งทนทานต่อแรงไถพรวนและแรงกดทับจากเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ได้น้อย มีค่าความหนาแน่นรวมมากกว่า 1.65 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร        

ข้อจำกัดของชั้นดินดาน 
            การพิจารณาว่าชั้นดินดานมีผลกระทบต่อการปลูกมันสำปะหลังพืชมากน้อยหรือไม่ สามารถพิจารณาได้จากชนิดของชั้นดินดานและระดับความลึกของชั้นดินดาน มีรายละเอียดดังนี้

  1. ชนิดของชั้นดินดาน ชั้นดินดานเปราะสามารถใช้ประโยชน์และจัดการได้ง่ายกว่าชั้นดินดานแข็ง เนื่องจากชั้นดินดานเปราะแตกหักได้ง่ายและลดความแน่นทึบเมื่อดินที่มีความชื้นเพิ่มขึ้น ส่วนชั้นดินดานแข็งเปลี่ยนแปลงได้น้อยมากหรือไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เลย
  2. ระดับความลึกของชั้นดินดาน ชั้นดินดานเป็นอุปสรรคต่อการไชชอนของรากพืชลงไปในดินชั้น

ล่าง เพื่อหาธาตุอาหารและน้ำ ตลอดจนสร้างความแข็งแรงในการค้ำจุนลำต้นด้วย พืชแต่ละชนิดมีระบบรากแตกต่างกัน บางชนิดมีระบบรากตื้น บางชนิดมีระบบรากลึก ชั้นดินดานที่อยู่ตื้นกว่า 50 เซนติเมตรจะมีผลกระทบต่อการปลูกมันสำปะหลังมาก

จะทราบได้อย่างไรว่าพื้นที่มีชั้นดินดาน 
            สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังสามารถทราบได้ว่าพื้นที่ปลูกพืชมีขั้นดินดานอยู่ใต้ดินหรือไม่ โดย  สังเกตในช่วงฤดูฝนเมื่อมีฝนตกลงมา พื้นที่ราบน้ำจะท่วมขังอยู่นาน เพราะน้ำไม่สามารถซึมผ่านชั้นดินดานลงไปสู่ชั้นดินล่างได้ แต่น้ำจะไหลบ่าไปบนผิวดิน เกิดการชะล้างหน้าดินออกจากพื้นที่ ส่วนในช่วงฤดูแล้งชั้นดินดานจะขวางกั้นไม่ให้ความชื้นจากดินชั้นล่างขึ้นมาถึงบริเวณรากพืชได้ พืชจะขาดน้ำ ทำให้พืชแคระแกร็นหรือยืนต้นตายได้ ในทางวิชาการเราสามารถเก็บตัวอย่างดินที่ระดับความลึก 50 เซนติเมตร เพื่อนำมาวิเคราะห์หาค่าความหนาแน่นรวม (bulk density)  ถ้าดินมีความหนาแน่นรวมมากกว่า 1.65 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร แสดงว่ามีชั้นดินดานเกิดขึ้นในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของเรา             

การไถระเบิดชั้นดินดานในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 
พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมักมีการไถพรวนที่ระดับความลึกเดียวกันตลอด ทำการไถพรวนในขณะดินมีความชื้นไม่เหมาะสม มีการกดทับจากรถแทรคเตอร์หรือรถบรรทุกในการเตรียมดิน เก็บเกี่ยว และการขนส่งหัวไปยังโรงงาน สิ่งดังกล่าวเหล่านี้ก่อให้เกิดชั้นดินดานได้ง่าย  โดย ชั้นดินดานจะขัดขวางการแพร่กระจายของรากพืชและการแทรกซึมของน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังหรือไหลบ่ามากขึ้นในช่วงฝนตกหนัก ชะล้างเอาหน้าดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงออกไปจากพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ทำให้พืชขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากชั้นดินดานจะขวางกั้นไม่ให้ความชื้นจากดินชั้นล่างขึ้นมาถึงบริเวณรากพืชได้ จึงทำให้พืชแคระแกร็นหรือยืนต้นตายได้ ดังนั้น พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังที่มีชั้นดินดาน ควรทำการไถระบิด ทุก 3-5 ปี มีรายละเอียด 4 ขั้นตอน ดังนี้

  1. การทำลายวัชพืชและเศษซากพืชก่อนไถระเบิดชั้นดินดานด้วยไถพรวน 2 แถว เพื่อไม่ให้เศษพืชพันขาไถระเบิดชั้นดินดานหรือเป็นอุปสรรคต่อการไถระเบิดชั้นดินดาน
  2. การไถระเบิดชั้นดินดานด้วยเครื่องไถแบบสั่นสะเทือน (shaking ripper) โดยไถ 2 รอบ รอบแรกไถไปตามแนวยาวของพื้นที่ก่อน  รอบที่สองไถตามขวางของพื้นที่หรือที่เรียกว่าไถตัดกันเป็นตาหมากรุก เพื่อให้ชั้นดินดานแตกร้าวสม่ำเสมอรอบทิศทางทั่วทั้งพื้นที่
  3. ไถดะด้วยผาล 3 หรือผาล 4 เพื่อทำลายวัชพืชและตากหน้าดินเพื่อทำลายศัตรูพืช
  4. ไถพรวนเพื่อย่อยดินให้ละเอียดและกลบรอยไถระเบิดชั้นดินดาน หลังจากนั้นทำการไ
  5. ถร่องปลูกมันสำปะหลัง 

ข้อควรระวังในการไถระเบิดชั้นดินดาน
            การไถชั้นระเบิดดินดานจะต้องเป็นพื้นที่ที่สำรวจแล้วว่ามีชั้นดินดานจริง ในกรณีถ้าเป็นพื้นที่ที่ไม่มีชั้นดินดานเกิดขึ้น การไถระเบิดชั้นดินดานจะช่วยส่งเสริมให้น้ำซึมลงใต้ดินเร็วกว่าปกติ โดย ดินชั้นบนจะแห้งเร็วขึ้น มีผลทำให้พืชขาดน้ำได้  อีกกรณีหนึ่งก็คือถ้ามีชั้นเกลืออยู่บริเวณใต้ดิน ไม่ควรไถระเบิดชั้นดินดาน เพราะจะทำให้เกลือขึ้นมาพร้อมกับน้ำใต้ดินเป็นอันตรายต่อมันสำปะหลังได้ 

ปัจจัยสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดชั้นดินดาน 
            ดินดานเป็นปัญหาของประเทศซึ่งเกิดจากการอัดตัวแน่นทึบ จนขัดขวางการเจริญเติบโตและการไชชอนของรากพืช พืชที่ปลูกในดินที่มีชั้นดินดานจะมีระบบรากตื้น  ทำให้พืชดูดกินธาตุอาหารและน้ำได้น้อย พืชเกิดอาการแคระแกรนหรือยืนต้นแห้งตาย ปัจจัยสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดชั้นดินดาน มีดังนี้

  1. การใช้ที่ดิน (land use) การไถพรวนเพื่อปลูกพืชที่ระดับความลึกเดียวกันและไม่ถูกวิธี เป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  2. โครงสร้างของดิน (soil structure) เป็นคุณสมบัติทางกายภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับอิทธิพลภายนอก ได้แก่ การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร และการจัดการดิน
  3. ความหนาแน่นรวม (bulk density) ดินที่มีความหนาแน่นรวมสูงจะเป็นอุปสรรคต่อการไชชอนของรากพืชและการซาบซึมของน้ำ การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่ไม่ถูกต้องจะช่วยส่งเสริมให้ดินความหนาแน่นรวมสูงขึ้น
  4. เนื้อดิน   (soil texture) แสดงถึงความหยาบและละเอียดของดิน เนื้อดินที่มีโอกาสเกิดชั้นดินดานได้สูง คือ เนื้อดินที่มีอนุภาคทรายแป้งหรือทรายละเอียด (silt)
  5. ความชื้นในดิน (soil moisture) การใช้เครื่องจักรเตรียมดิน เก็บเกี่ยว และการใช้รถบรรทุกขนส่งหัวมันสำปะหลังลงไปเหยียบย้ำในแปลงในขณะที่ดินมีความชื้นสูง จะทำให้เกิดการอัดแน่นของดินได้ง่าย
  6. การเขตกรรม การไถพรวนทำอย่างไม่ถูกต้องและเหมาะสม การไถพรวนมากครั้ง ที่ระดับความลึกเดียวกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดชั้นดินดานที่ดินชั้นล่างได้

ผลกระทบของชั้นดินดานต่อพืช 
            เป็นที่ทราบกันแล้วว่าชั้นดินดานจะขัดขวางการแพร่กระจายของรากพืช และการแทรกซึมของน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังหรือไหลบ่ามากขึ้นในช่วงฝนตกหนัก ชะล้างเอาหน้าดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงออกไปจากพื้นที่  ในขณะเดียวกันก็ทำให้พืชขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากชั้นดินดานจะขวางกั้นไม่ให้ความชื้นจากดินชั้นล่างขึ้นมาถึงบริเวณรากพืชได้ จึงทำให้พืชแคระแกร็นหรือยืนต้นตายได้ ผลผลิตลดลง ผู้เขียนได้ทำการศึกษาการไถระเบิดชั้นดินดานในแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญของประเทศ ได้แก่นครราชสีมา จันทบุรี สระแก้ว ชลบุรี และกำแพงเพชร จำนวน 10 แปลงทดลอง แปลงทดลองละ 12 ไร่ โดย ทำการไถระเบิดชั้นดินดานที่ระดับความลึก 60 80 และ 100 เซนติเมตร เปรียบเทียบกับไม่มีการไถระเบิดชั้นดินดาน พบว่า การไถระเบิดชั้นดินดาน ทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.06 ตันต่อไร่ หรือประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ การไถระเบิดชั้นดินดานที่ระดับความลึกทั้ง 3 ระดับ ให้ผลผลิตหัวสดไม่แตกต่างกัน ดังนั้น ในพื้นที่ที่มีปัญหาชั้นดินดาน ควรทำการไถระเบิดที่ระดับความลึก 60 เซนติเมตรก็เพียงพอแล้วดังแสดงในภาพที่ 1

นอกจากนี้ ผู้เขียนได้ทำการศึกษาการให้น้ำกับมันสำปะหลังในแหล่งปลูกที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ นครราชสีมา จันทบุรี สระแก้ว ชลบุรี และกำแพงเพชร จำนวน 10 แปลงทดลอง แปลงทดลองละ 12 ไร่เท่ากับแปลงทดลองไถระเบิดชั้นดินดาน โดย ให้น้ำแบบน้ำหยดในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม เฉลี่ย 2 ครั้งต่อเดือน เปรียบเทียบกับการปลูกแบบอาศัยน้ำฝน พบว่า การปลูกแบบให้น้ำหยดให้ผลผลิตหัวสดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 750 กิโลกรัมต่อไร่ หรือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ดังแสดงในภาพที่ 2  เมื่อมาพิจารณาในแต่ละชนิดของดิน ไม่มีดินชนิดใดตอบสนองต่อการให้น้ำแบบน้ำหยดอย่างเด่นชัดดังแสดงในตารางที่ 1 

ผู้เขียนมีความเห็นว่า การให้น้ำหยดกับมันสำปะหลังควรพิจารณาในกรณีแรก คือ ถ้าต้องการปลูกมันสำปะหลังให้ช่วงฤดูแล้งในเดือนมกราคม-มีนาคมโดยไม่ต้องรอฝนตก การให้น้ำหยดจะช่วยให้มันสำปะหลังสามารถงอกได้และเจริญเติบโตได้ดีในช่วงแรก เพื่อเตรียมความพร้อมด้านทรงพุ่มใบเมื่อเข้าสู่ในช่วงฤดูฝนอย่างเต็มที่ กรณีที่สอง คือ การให้น้ำหยดกับมันสำปะหลังเพื่อต้องการยืดฤดูฝนไปอีก 2 เดือน คือ ตั้งแต่พฤศจิกายนถึงธันวาคม เพื่อให้มันสำปะหลังได้ลงหัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน ความชื้นสัมพัทธ์ในบรรยากาศต่ำ ทำให้ใบร่วง การให้น้ำหยดกับมันสำปะหลังช่วงนี้ ไม่สามารถรักษาทรงพุ่มใบได้ตามปกติ ทำให้ผลผลิตหัวสดไม่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม การศึกษาการให้น้ำอย่างแม่นยำ โดย ให้ในปริมาณและเวลาที่มันสำปะหลังต้องการเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไป เพื่อนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปกำหนดโมเดลการทำฟาร์มอย่างแม่นยำหรือที่เรียกว่า “Precision farming” เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลังในอนาคต ต่อไป


การชะลอการเกิดชั้นดินดาน
            การไถระเบิดชั้นดินดานไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาการเกิดชั้นดินดานอย่างถาวร  แต่ถ้าหากไม่มีการจัดดินที่ถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ชั้นดินดานก็จะกลับมาเกิดขึ้นใหม่ได้อีก ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช ดังนั้น การชะลอการเกิดชั้นดินดานจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดสามารถทำได้ ดังนี้

  1. การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร โดย ควบคุมการใช้เครื่องจักรกลในพื้นที่การเกษตรเท่าที่จำเป็นและใช้ในขณะดินมีความชื้นพอเหมาะ ควบคุมแนวทางเดินของเครื่องจักรกลซ้ำที่เดิมและวางแนวปลูกพืชให้อยู่ระหว่างล้อของเครื่องจักร เพื่อไม่ให้เกิดชั้นดินดานทั่วพื้นที่   
  2. ความชื้นของดิน ชั้นดินดานที่อยู่ใต้ดินชั้นไถพรวนจะเป็นอุปสรรคต่อการไชชอนของรากพืชก็ต่อเมื่อชั้นดินดานแห้งได้ระดับหนึ่ง ดังนั้น การรักษาความชื้นของดินชั้นดินดานให้พอเหมาะในระดับหนึ่ง สามารถลดผลกระทบของชั้นดินดานต่อรากพืช
  3. การปรับปรุงโครงสร้างของดินเพื่อให้เม็ดดินมีเสถียรภาพ โดย การเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยพืชสด เพื่อให้ดินมีคุณสมบัติทางกายภาพดีขึ้น ดูดซับน้ำได้มากขึ้น มีช่องว่างในดินเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความหนาแน่นรวมลดลงได้
  4. การปลูกหญ้าแฝก ชั้นดินดานเป็นดินที่มีความหนาแน่นสูง ส่วนประกอบของดินมีน้ำ ช่องว่าง อากาศ รวมทั้งอินทรียวัตถุลดน้อยลง  หญ้าแฝกเป็นพืชที่ขึ้นได้ในสภาพดินดาน มีระบบรากลึกเจาะผ่านชั้นดินดานได้และให้ปริมาณรากมากกว่าพืชอื่น ดังนั้น เมื่อฝนตกลงมาความชื้นจะซึมผ่านลงตามระบบของรากหญ้าแฝก สร้างความชื้นและอินทรียวัตถุให้กับดินในชั้นดินดานอย่างรวดเร็ว    

บทสรุป 
                เกษตรกรไทยปลูกมันสำปะหลังเป็นเวลานานเกือบ 50 ปีมาแล้ว มีการไถพรวนที่ระดับความลึกเดียวกันอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ทำให้โครงสร้างของดินถูกทำลายลง เม็ดดินแตกละเอียด เมื่อฝนตกอนุภาคของดินเหนียว ทรายแป้ง รวมทั้งอินทรียวัตถุถูกชะล้างลงมาสะสมกันใต้ชั้นไถพรวน นอกจากนี้  ยังมีแรงกดทับจากรถแทรคเตอร์ในการเตรียมดินจนถึงการเก็บเกี่ยว และรถบรรทุกขนส่งหัวไปยังโรงงาน สิ่งดังกล่าวเหล่านี้ก่อให้เกิดชั้นดินดานไถพรวนขึ้นในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง การไถระเบิดชั้นดินดานจึงไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาการเกิดชั้นดินดานอย่างถาวร  ชั้นดินดานก็จะกลับมาเกิดขึ้นใหม่ได้อีก ถ้าหากไม่มีการจัดดินที่ถูกต้องและเหมาะสม ผู้เขียนมีความเห็นว่าการชะลอการเกิดชั้นดินดานจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาการเกิดชั้นดินดานด้วยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับการให้น้ำมันสำปะหลัง ซึ่งเกษตรกรในเขตบ้านสมบัติเจริญ ตำบลกุดโบส์ก อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมาเขาป


ผู้เขียน : 
ดร.โอภาษ บุญเส็ง
ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง 
สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงานกรมวิชาการเกษตร