มาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเพื่อผลิตมันสำปะหลังให้พอเพียง
17 Apr 2016สถานการณ์การผลิตมันสำปะหลังในฤดูการผลิตปี 2553/54 ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของเพลี้ยแป้งสีชมพูที่ทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลง จากเฉลี่ย 3.6 ตันต่อไร่ เหลือประมาณ 3 ตันต่อไร่ ผลกระทบดังกล่าวยังทำให้เกษตรกรจำนวนหนึ่งหันไปปลูกพืชชนิดอื่น ส่งผลให้ผลผลิตมันสำปะหลังไม่พอกับความต้องการ ราคาหัวมันสำปะหลังสดจึงพุ่งสูงกว่ากิโลกรัมละ 3 บาท ตั้งแต่ปลายปี 2553 เป็นต้นมา ส่งผลให้กระทบต่อการใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งในและต่างประเทศ อย่างไม่เคยมีมาก่อน เช่น โรงงานเอทานอลหลายแห่งต้องหยุดการผลิต สิ่งจำเป็นเร่งด่วนในสภาวะปัจจุบัน คือ จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาการปลูกมันสำปะหลังให้เพิ่มผลผลิตพอเพียงกับความต้องการของตลาด ผู้เขียนมีความเห็นว่า เมื่อพิจารณาปัญหาหรือภัยคุกคามต่อการผลิตมันสำปะหลังไทยที่สำคัญมีดังนี้
แนวทางแก้ไขในภาพรวมในภาวะปัจจุบัน 1. ปัญหาเพลี้ยแป้งสีชมพู สาเหตุ นักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม บางท่านกล่าวว่า เพราะโลกร้อนขึ้น เพลี้ยแป้งสีชมพูจึงระบาดรุนแรง แต่ความเป็นจริงนั้นการระบาดของเพลี้ยแป้งไม่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนเพราะว่า เพลี้ยแป้งที่พบในมันสำปะหลังนั้นพบมาตั้งแต่ในอดีตนานมาแล้ว แต่ระบาดไม่รุนแรง แต่ที่ระบาดรุนแรงในปัจจุบันนั้นเพราะมีเพลี้ยแป้งชนิดใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนในภูมิภาคนี้เข้ามาระบาดในประเทศไทย ใครเป็นผู้นำเข้ามา โดยวิธีใดเมื่อใดไม่มีใครทราบ หรือเข้ามากับพืชชนิดอื่น เช่น สบู่ดำก็ไม่มีใครพิสูจน์ได้ นักวิชาการจากกรมวิชาการเกษตรได้ส่งตัวอย่างเพลี้ยแป้งที่ระบาดไปให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศตรวจสอบพบว่า คือ เพลี้ยแป้งสีชมพู (pink mealybug) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phenacoccus manihoti เพลี้ยแป้งสีชมพูนี้ เป็นแมลงศัตรูมันสำปะหลัง พบในทวีปอเมริกาใต้ เช่น บราซิล ปารากวัย และโคลอมเบีย แต่ในประเทศเหล่านี้มีแมลงศัตรูธรรมชาติควบคุมประชากรเพลี้ยแป้งสีชมพูอยู่ ทำให้ปริมาณเพลี้ยแป้งสีชมพูมีไม่มากพอให้เกิดการระบาดรุนแรง แต่มีการนำเข้าไประบาดอย่างรุนแรงในประเทศต่างๆ ในทวีปอัฟริกาในช่วงทศวรรษ 1970 เพราะบริเวณดังกล่าวไม่มีแมลงศัตรูธรรมชาติคอยควบคุมอยู่ เพลี้ยแป้งสีชมพู (pink mealybug) ประสบการณ์การปราบเพลี้ยแป้งสีชมพูในทวีปอัฟริกา พบว่า การใช้สารเคมีกำจัดแมลงฉีดพ่นทำลายไม่ได้ผล เพราะในระยะเวลาไม่นานหลังจากฉีดพ่นทำลาย เพลี้ยแป้งสีชมพูก็จะกลับมาระบาดอีก ต้องพ่นสารเคมีกำจัดแมลงจำนวนเพิ่มขึ้นตลอดเวลา และควบคุมไม่ได้ ความสำเร็จในการควบคุมเพลี้ยแป้งสีชมพูในทวีปอัฟริกาโดยองค์กรเกษตรนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ IITA (International Institute of Tropical Agriculture) ตั้งอยู่ที่ประเทศไนจีเรีย ได้ประสานงานกับนักกีฏวิทยาจาก CIAT (Centro International de Agricultura Tropical) ประเทศโคลอมเบีย นำแตนเบียนศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้งสีชมพู ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anagyrus lopezi จากทวีปอเมริกาใต้ มาเลี้ยงขยายแล้วปล่อยทั่วทวีปอัฟริกา สามารถควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งสีชมพูประสบความสำเร็จ บทเรียนจากทวีปอัฟริกามีสองประการคือ 1) การใช้สารเคมีกำจัดแมลงฉีดพ่นทำลายเพลี้ยแป้งสีชมพูไม่ได้ผล 2) การควบคุมด้วยแตนเบียน Anagyrus lopezi ได้ผลถาวร เกษตรกรไม่ต้องลงทุนทำอะไร หน่วยงานวิจัยขยายพันธุ์แตนเบียนแล้วปล่อยให้ทั่วถึง แตนเบียนจะขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ เข้าควบคุมเพลี้ยแป้งสีชมพูอย่างถาวร ทำให้ปัญหาเพลี้ยแป้งสีชมพูหมดไป นับว่าเป็นความรวดเร็วของนักกีฏวิทยาของไทยจากกรมวิชาการเกษตร โดย ดร.อัมพร วิโนทัย ได้ประสานขอความช่วยเหลือให้นักวิชาการจาก IITA โดยได้นำแตนเบียน Anagyrus lopezi จากประเทศเบนิน (อยู่ติดกับประเทศไนจีเรีย) โดย Dr.Georg Goergen นำแตนเบียนดังกล่าว จำนวน 500 คู่ มามอบให้กรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552 และกรมวิชาการได้ศึกษาเรื่อง ความปลอดภัยแล้วขยายและปล่อยที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เมื่อเดือนธันวาคม 2552 และมอบให้สถาบันพัฒนามันสำปะหลัง มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ขยายพันธุ์แตนเบียนดังกล่าว และได้ทดลองปล่อยในสถาบันพัฒนามันสำปะหลัง พื้นที่ประมาณ 3 พันไร่ และปล่อยในไร่เกษตรกรรอบๆ สถาบันพัฒนามันสำปะหลัง จำนวน 25 หมู่บ้านในตำบลห้วยบง ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 แตนเบียน (Anagyrus lopezi) ผลของการติดตามผลของผู้เขียนในช่วงเดือนมกราคม 2554 หลังจากเวลาผ่านไปประมาณ 1 ปี ปรากฏว่า ทั้งที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยองและที่สถาบันพัฒนามันสำปะหลัง สามารถควบคุมเพลี้ยแป้งสีชมพู ได้ผลดีรวมทั้งที่สถานีวิจัยเขาหินซ้อนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และที่ไร่เกษตรกร จังหวัดกาฬสินธุ์ ดำเนินการโดย บริษัท เนชั่นแนล สตาร์ช แอนด์ เคมิเคิล (ไทยแลนด์ จำกัด) ในขณะที่ในห้วงเวลาเดียวกันแปลงเกษตรกรทั่วๆ ไปเริ่มพบอาการของเพลี้ยแป้งสีชมพูอยู่ทั่วไป สภาพดังกล่าวผู้เขียนสามารถสรุปด้วยความมั่นใจได้ว่า การควบคุมเพลี้ยแป้งสีชมพู โดยแตนเบียนที่นำเข้ามานี้สามารถควบคุมเพลี้ยแป้งได้ผลดี นอกจากนั้นโครงการใช้แมลงศัตรูธรรมชาติของไทย เช่น แมลงช้าง ของศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี ก็ได้ผลเช่นกัน คำแนะนำของทางการในปัจจุบันนี้ แนะนำให้แช่ท่อนพันธุ์ก่อนปลูกโดยสารเคมีกำจัดเพลี้ยแป้งสีชมพู จะป้องกันได้ 1 – 2 เดือน ร่วมกับการปล่อยแตนเบียนจะได้ผล ทั้งนี้ห้ามฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงอย่างเด็ดขาดเพราะจะไม่ได้ผล แต่ทำให้ปัญหาการระบาดรุนแรงขึ้น สิ่งที่ท้าทายคือ จะขยายและปล่อยแตนเบียนให้ทั่งถึงทั้งประเทศให้เร็วที่สุดได้อย่างไร ขณะนี้เทคนิคการเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์แตนเบียน โดยมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และของบริษัท เนชั่นแนล สตาร์ช แอนด์ เคมิเคิล (ไทยแลนด์ จำกัด) ได้พัฒนาจนเข้าที่ สามารถผลิตแตนเบียนได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ได้ประมาณวันละ 13,000 คู่ ผู้เขียนคาดว่า หากกรมส่งเสริมการเกษตร และภาคเอกชน ร่วมมือกันขยายแตนเบียน และร่วมมือกันปล่อยแตนเบียนกันอย่างจริงจังให้ทั่งประเทศนปี 2554 ที่เหลืออีกประมาณ 10 เดือน ปัญหาเพลี้ยงแป้งสีชมพูก็น่าจะทุเลาลงไปในปี 2555 เป็นต้นไป 2. การแก้ปัญหาแรงงาน ความจริงที่ปรากฏในขณะนี้ก็คือ แรงงานภาคการเกษตรลดลงอย่างมาก ทั่วทุกภาคจะพบแรงงานต่างชาติเข้ามาแทนที่ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตรปรากฏต่อเนื่องมานับสิบปี และนับวันก็ยิ่งจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น การเพาะปลูกมันสำปะหลังจึงจำเป็นจะต้องอาศัยเครื่องจักรกลมากยิ่ง ขึ้น รวมทั้งการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช เครื่องจักรที่ให้กันแพร่หลายในปัจจุบัน ได้แก่ รถแทรกเตอร์สำหรับเตรียมดิน และเครื่องมือชุดชนิดติดท้ายรถแทรกเตอร์ สิ่งที่ยังขาดคือ
ในทางปฏิบัติจะให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังมีเครื่องจักร และเครื่องมือครบทุกคนคงจเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นอาจจะส่งเสริมให้เกษตรกรผู้นำ จัดหาเครื่องจักรเครื่องมือให้พร้อม แล้วรับจ้างทั้งหมด เช่น ปลูก ใส่ปุ๋ย ฉีดยากำจัดวัชพืช และเก็บเกี่ยวขนส่งเสร็จ เหมือนเช่นในปัจจุบันมีผู้รับจ้างใช้เครื่องจักรดำนา โดยที่เกษตรกรจะปลูกข้าวพันธุ์ใดก็ไปแจ้งผู้รับจ้างดำนา โดยจะว่าจ้างรถดำนาเป็นเวลาล่วงหน้าประมาณ 2 อาทิตย์ ซึ่งจะมีการเพาะกล้าให้ บริการปักดำโดยใช้เครื่องจักร รวมถึงรับจ้างเกี่ยว และนวดข้าวโดยเครื่องเก็บเกี่ยวให้ด้วย 3. การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ หากควบคุมเพลี้ยแป้งสีชมพูได้สำเร็จจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะได้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ให้ได้ 5 ตันต่อไร่ จากประสบการณ์การวิจัยที่ปลูกทดสอบพันธุ์มันสำปะหลังมาหลายปี และหลายจังหวัด จำนวนนับ 100 แปลงพบว่า การปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตเฉลี่ยระดับ 5 ตันต่อไร่ เป็นของปกติเมื่อ
ผู้เขียนเคยร่วมโครงการในช่วงที่กำลังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ทั่วประเทศ โดยมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย มีการแจกพันธุ์ให้เกษตรกรรายละ 1,500 ลำ ให้พอสำหรับปลูกได้ 5 ไร่ และคัดเลือกเกษตรกรระดับชั้นนำให้เข้าประกวดผลผลิตเป็นเวลา 3 ปี ในปี 2538 2539 และ 2540 โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลรถไถเดินตามมูลค่าประมาณ 1 แสนบาท มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมประกวดกันอย่างล้นหลาม แต่การเก็บเกี่ยวจะต้องมีกรรมการเข้าตรวจซึ่งผลผลิตที่เก็บเกี่ยวกันจริงๆ ผลปรากฏว่า
ในขณะนี้เกษตรกรมีทางเลือกมากขึ้น เพราะพืชผลหลายชนิดราคาสูง เช่น อ้อยราคาตันละสูงกว่าพันบาท ราคายางพาราสูงกว่ากิโลกรัมละ 100 บาท ทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชต่าง ๆ เหล่านี้มากยิ่งขึ้น พื้นที่ของมันสำปะหลังก็ต้องแย่งกับพืชดังกล่าว การปลูกแล้วได้ผลผลิตต่ำ ในขณะที่ต้นทุนสูงขึ้นย่อมไม่สามารถเป็นทางเลือกที่ดีให้ปลูกเป็นการค้าได้ 4. อวิชชาในวงการมันสำปะหลัง ในช่วงระยะเวลา 3 – 4 ปีที่ผ่านมา จะมีผู้แอบอ้างขายเชื้อจุลินทรีย์บ้าง สารพิเศษบ้าง ปลูกมันแบบคอนโดบ้าง แล้วจะได้ผลผลิต 30 ตันต่อไร่ มีธนาคารที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร โรงงานมันสำปะหลังบางราย ผู้ว่าราชการบางจังหวัด เข้าร่วมอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บางครั้งต้องลงทุนซื้อสารดังกล่าวเป็นเงินจำนวนมาก มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย และผู้เขียนก็เคยร่วมทดสอบวิธีต่างๆ ผลผลิตที่ได้ก็ไม่มากไปกว่าที่ได้ตามปกติ การที่ผู้ไม่เคยทำการเกษตรจริงๆ การปลูกมันสำปะหลังไว้ประกวดเพียง 1 – 2 ต้น รดน้ำดูแลอย่างดีเป็นเวลาสัก 1 ปี จะได้หัวหนัก 30 – 50 กิโลกรัม แล้วนำไปคูณด้วย 1,600 ต้นต่อไร่ จะได้ผลผลิต 48 – 80 ตันต่อไร่ ซึ่งเป็นการเลือกเอาต้นหัวใหญ่ๆ แล้วคูณ 1,600 ต้นต่อไร่ ผู้เขียนเคยใช้วิธีคล้ายๆ กัน คือเก็บเกี่ยวต้นมันสำปะหลังที่อยู่ขอบนอก และอายุมากๆ ขุดหัวจะได้หัวขนาดใหญ่สำหรับจัดนิทรรศน์การเรียกความสนใจของผู้มาชมนิทรรศการ แต่ไม่ได้เอาไว้โฆษณาว่าเป็น “มันสำปะหลังมหัศจรรย์” ผู้เขียนยังจำได้ถึงการประกวดมันสำปะหลังหัวโต โดยกระทรวงพาณิชย์ ในการประชุมมันสำปะหลังโลกในปี 2552 แต่ละต้นหัวหนักมากกว่า 50 กิโลกรัม หากคูณด้วย 1,600 ต้นต่อไร่ จะได้ผลผลิตกว่า 80 ตันต่อไร่ เรื่องดังกล่าวไม่ควรจะเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน แต่ก็ยังดีขึ้นมากที่เรื่อง 30 ตันต่อไร่ ดังกล่าวเริ่มเบาไปบ้าง หลังจากที่มีผู้มาชี้แจง หรือทดลองให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบ ผลผลิตระดับ 10 – 12 ตันต่อไร่ เป็นไปได้หากมีการใช้น้ำในฤดูแล้งและเก็บเกี่ยวอายุมากเช่น 12 – 15 เดือน เป็นต้น ซึ่งมีเกษตรกรหัวก้าวหน้าในบางท้องที่ดำเนินการอยู่ 5. การค้าเสรี การที่พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของไทยมีจำกัด แต่ตลาดมันสำปะหลังกำลังขยายตัวเป็นอย่างมาก นโยบายการค้าเสรี เช่น การนำหัวมันสดจากประเทศเพื่อนบ้านมาแปรรูปเป็นมันเส้น หรือแป้งส่งจำหน่ายต่างประเทศ จะทำรายได้เข้าประเทศมากยิ่งขึ้น ดีกว่าให้ผลผลิตดังกล่าวส่งผ่านประเทศอื่นมาแข่งกับการส่งออกของไทย นโยบายดังกล่าวน่าจะมีการศึกษาและพิจารณากันอย่างรอบคอบและจริงจัง อีกทั้งต้องเตรียมตัวสำหรับเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ด้วย ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นอย่างยิ่ง | |
ผู้เขียน : | ศ.ดร.เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ รศ.ดร.วิจารณ์ วิชชุกิจ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ |